บ้านเลขที่ 189 ถนนถวาย เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นสีเหลืองสวยงามน่าชม อายุกว่า 60 ปี หันหน้าหาถนนโดยอยู่ฝั่งถนนที่ไม่ติดกับแม่น้ำท่าจีน ตรงกลางอาคารมีมุขยื่นออกมารองรับด้วยเสาปูน หลังคามีการทำเป็นหน้าจั่วประดับด้วยป้ายชื่อโรงเรียนที่ทำจากไม้ ด้านบนป้ายชื่อประดับด้วยปูนปั้นรูปพระพรหมซึ่งเป็นตราประจำโรงเรียน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นโดยแยกออกจากโรงเรียนสาครวิทยา ชื่อ “ทัสนะธรรม” มาจากนามสกุลของเจ้าของโรงเรียน คือ คุณครูชื่น-คุณครูสว่างทิพย์ ทัสนะธรรม เดิมโรงเรียนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนสาครวิทยา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2497 ได้ย้ายมา ณ ที่ตั้งในปัจจุบัน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในจังหวัดสมุทรสาครที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะให้เทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล เมื่อ พ.ศ. 2500 และได้ปิดตัวลงเมื่อปี 2532 (เปิดให้ชมเฉพาะด้านนอก)
ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วแห่งนี้อยู่ในบริเวณวัดช่องลม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2542 หันหน้าสู่ปากอ่าวไทย ภายในศาลเจ้ามีเจ้าแม่เมืองสมุทร หรือเจ้าแม่เทียนโฮ่ว เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวามีพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ และด้านซ้ายมีเทพเจ้าแปะกง เจ้าแม่เทียนโฮ่วมีประวัติโดยย่อว่า ท่านเป็นผู้หญิงที่เฉียวฉลาดและมีพลังจิตสูง เกิดในมณฑลฮกเกี้ยน ครั้งหนึ่งพี่ชายของนางซึ่งเป็นชาวเรือได้ประสบคลื่นพายุใหญ่ในทะเล นางทราบด้วยพลังจิต จึงได้ใช้พลังจิตนำเรือพี่ชายพ้นจากพายุและกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย จึงเป็นที่เลื่องลือและนับถือโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเดินเรือและชาวประมง
เดิมชื่อ “วัดท้ายบ้าน” เพราะอยู่ช่วงท้ายบ้านของท่าฉลอม วัดนี้อยู่ตรงบริเวณปากอ่าวซึ่งมีลมแรงพัดเข้ามา ต่อมาจึงเรียกว่า “วัดช่องลม” ถือว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ. 2519 รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดสุทธิวาตวราราม” ซึ่งมีความหมายว่า “วัดลมล้วน ๆ” ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยนามหลวงพ่อหินแดงเป็นประธาน ซึ่งสร้างจากหินทรายแดงที่อาจเก่าถึงสมัยอยุธยาตอนต้นโดยลงรักปิดทองใหม่ และมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก ถัดจากอุโบสถ มีวิหารพระเทพสาครมุนีหรือหลวงปู่แก้วซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสองค์สำคัญของวัดช่องลมที่มีคุณูปการอย่างมากกับชุมชนท่าฉลอม ในวิหารมีนกนางแอ่นมาทำรังอยู่จำนวนมาก และถ่ายมูลรดผนังเป็นลวดลายสวยงาม เป็นที่ดึงดูดใจของผู้มาเยี่ยมชม ที่หน้าวัดมีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 วัดนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างจากวัดไทยทั่วไป คือ มีศาลเจ้าถึง 2 แห่งอยู่ในบริเวณวัดซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้อย่างดีของคนไทยและคนจีนในชุมชนท่าฉลอม ได้แก่ ศาลเจ้าแม่เมืองสมุทรซึ่งอยู่ด้านหน้าวัด และศาลเจ้าแม่กวนอิมซึ่งอยู่ด้านหลังวัด
สร้างขึ้นเมื่อปี 2519 ด้วยเงินบริจาคของชาวท่าฉลอมเพื่อระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงประกาศให้ตำบลท่าฉลอมเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของไทยและเสด็จมาเปิดถนนถวาย ทุกปีในวันที่ 18 มีนาคม ซึ่งเป็น “วันท่องถิ่นไทย” ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2553 จะมีการจัดงานพิธีถวายราชสักการะและกล่าวถวายราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แต่ละจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ โดยมีศูนย์กลางการจัดงานที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 แห่งนี้ เพื่อร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะตำบลท่าฉลอมขึ้นเป็นสุขาภิบาลท่าฉลอม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นของไทย
ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว เก่าแก่กว่า 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ศาลเจ้านี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลเจ้ากลาง” เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างหัวบ้านและท้ายบ้านของท่าฉลอม และยังมีอีกชื่อตามป้ายชื่อภาษาจีนที่ติดอยู่หน้าศาลว่า “ศาลเจ้าเก่าแห่งท่าจีน” ภายในศาลมีเทพเจ้าปุนเถ้ากงซึ่งทรงชุดทหาร เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลางพร้อมด้วยเทพบริวารอีก 3 องค์ ด้านขวามีเจว็ดไม้สลักเป็นรูปเทวดาทรงเครื่องแบบไทยจำนวน 6 องค์ โดยบางองค์เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง และด้านซ้ายมีเจ้าแม่เทียนโฮ่วซึ่งเป็นเทพที่คนเดินเรือชาวจีนแต้จิ๋วนับถือในลักษณะเช่นเดียวกับเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยของชาวจีนไหหลำ เทพเจ้าปุนเถ้ากงเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนโพ้นทะเลในพื้นที่ต่าง ๆ เคารพนับถือแต่ไม่มีในประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งชุมชนที่คอยดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชนนั้น ๆ ให้ร่มเย็น และทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง และยังเป็นที่นับถือของนักเดินเรือชาวจีนในอดีตอีกด้วย ปุนเถ้ากง หรือ เปิ่นโถวกง (本頭公) มาจากคำว่า “เปิ่น” แปลว่า เดิม หรือดั้งเดิม “โถว” มาจาก “โถวมู่” แปลว่า หัวหน้า หรือผู้นำ และ “กง” แปลว่า ผู้อาวุโส หรือผู้เฒ่า เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า “หัวหน้าผู้อาวุโสที่มีมาแต่เดิม”
ไหว้เทพเจ้าในโรงเจแล้ว เดินไปทางด้านหลัง มีเก๋งจีนวางป้ายวิญญาณเก่าแก่ แท่นวางป้ายวิญญาณวาดลวดลายพู่กันจีน บนแท่นวางแผ่นป้ายวิญญาณบรรพชนชาวท่าฉลอมจำนวนมาก สลักเสลาสวยงาม เป็นธรรมเนียมเคารพแบบจีน แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ชาวจีนโพ้นทะเลนั่งเรือสำเภาห่างจากบ้านเกิด มาก่อร่างสร้างตัว ด้วยความมุ่งมั่น ส่งทอดต่อให้ลูกหลาน ศิลปะความงดงามของป้ายวิญญาณ นอกจากถ่ายทอดความกตัญญูรู้คุณ ยังบอกเล่า ฐานะความเจริญรุ่งเรืองของท่าฉลอมในยุคนั้นอีกด้วย
โรงเจใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาคร สร้างโดยจีนแต้จิ๋ว เก่าแก่กว่า 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน โรงเจนี้ประกอบด้วย อาคารประธาน อาคารประดิษฐานป้ายวิญญาณ ศาลทีกง โรงเจและอาคารสำนักงาน และโรงงิ้ว ภายในอาคารประธานมีเทพเจ้าเต๋าบ้อและนพเคราะห์ เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวามีเทพเจ้าน่ำปั๊กกวนกุน (เทพเจ้าดาวเหนือและดาวใต้) และด้านซ้ายมีเทพเจ้าฮั้วถ้อเซียนซือ ซิ่งล่งเซียนตี่ และซิ่งกิมยิ้น อาคารประดิษฐานป้ายวิญญาณอยู่บริเวณด้านหลัง ซึ่งมีแผ่นป้ายวิญญาณของบรรพชนชาวท่าฉลอมจำนวนมากเก็บไว้อยู่ ในเดือนตุลาคมของทุกปี มีงานประเพณีเทศกาลถือศีลกินเจ 10 วัน ซึ่งจะมีชาวสมุทรสาครและจังหวัดอื่น ๆ จำนวนมากมาไหว้ที่โรงเจแห่งนี้
ศาลเจ้าจีนไหหลำ เก่าแก่ประมาณ 100 ปี หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ภายในศาลเจ้ามีเทพเจ้าเฮียตี๋กง หรือเทพเจ้า 108 พี่น้องซึ่งเป็นเทพเจ้าสำคัญของชาวจีนไหหลำ เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลาง ด้านขวามีเทพเจ้าปุนเถ้ากง และด้านซ้ายเทพเจ้าไฉ่ซินเอี๊ยะ หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ศาลเจ้าแห่งนี้ไม่ประดิษฐานเทพเจ้าเป็นองค์ประติมากรรม แต่ใช้ป้ายวิญญาณเป็นตัวแทนเทพเจ้าแต่ละองค์ ซึ่งลักษณะเช่นนี้มักพบในศาลเจ้าของชาวจีนไหหลำ เทพเจ้าเฮียตี๋กงมีประวัติโดยย่อว่า ในอดีต มีกลุ่มพ่อค้าชาวจีนไหลหลำ 108 คนได้ออกเรือจากเกาะไหหลำเพื่อนำสินค้าไปขายที่เวียดนาม แต่ระหว่างเดินทางในทะเลได้ถูกข้าราชการและทหารเวียดนามปล้นและถูกจับโยนลงทะเลฆ่าตายทั้งหมด แต่วิญญาณชาวจีนไหลหลำทั้ง 108 คนนั้นศักดิ์สิทธิ์มากได้ไปเข้าฝันพระราชาเวียดนาม จนในที่สุดทำให้ข้าราชการและทหารเวียดนามดังกล่าวถูกจับและถูกลงโทษ จึงทำให้ชาวจีนไหหลำนับถือตั้งแต่นั้นมา
สมเด็จองค์พระปฐมฯ พระพุทธรูปปางทรมานพญาชมพูบดี องค์ใหญ่สูงสง่าทรงเครื่องงดงามดุจดั่งกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ มีประวัติโดยย่อว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงเนรมิตองค์เป็นพระเจ้าราชาธิราชที่งดงามดุจท้าวมหาพรหม เพื่อปรามความหลงใหลในทรัพย์สมบัติและความริษยาของพญาชมพูบดี เมื่อแสดงอิทธิฤทธิ์แข่งกับพระพุทธเจ้าเท่าไรก็ไม่สามารถเอาชนะได้ ในที่สุดพระพุทธเจ้าจึงทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมโปรด จนทำให้พญาชมพูบดีดวงตาเห็นธรรมและออกบวช สมเด็จองค์พระปฐมฯ ที่ท่าฉลอม เป็นหนึ่งใน 9 องค์ที่สร้างขึ้นทั่วประเทศในพื้นที่ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส นอกจากนี้ วัดนี้ยังมีความแตกต่างจากวัดไทยทั่วไป คือ มีศาลเจ้าไต้ฮงกงและสุสานจีนตั้งอยู่ในบริเวณวัดซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้อย่างดีของคนไทยและคนจีนในชุมชนท่าฉลอม
เดิมชื่อว่า “วัดหัวบ้าน” ตั้งอยู่ต้นถนนถวาย ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด แต่มีบันทึกเกี่ยวกับวัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 อุโบสถไม้เก่าแก่และสวยงามด้วยศิลปะจีนผสมไทยอย่างลงตัว หลังคาประดับด้วยทั้งมังกรและพญานาค มีพระพุทธรูป 18 องค์ซึ่งเรียกว่า 18 อรหันต์ เรียงรอบผนังด้านนอกอุโบสถ ที่ฐานพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีจารึกว่า “จีนใช้แม่ต่อม สร้างไว้ในสาสน” และอีกองค์หนึ่งจารึกเป็นภาษาจีนโบราณ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงปู่แสนสุข หลวงพ่อเชียงแสน และหลวงพ่อดำ พื้นอุโบสถปูด้วยกระเบื้องลายครามโบราณล้ำค่าจากจีนซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้สร้างอุโบสถรวมกันในสมัยนั้น