ศาลเจ้าปุนเถ้ากง

ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋ว เก่าแก่กว่า 100 ปี  หันหน้าสู่แม่น้ำท่าจีน ศาลเจ้านี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลเจ้ากลาง” เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างหัวบ้านและท้ายบ้านของท่าฉลอม และยังมีอีกชื่อตามป้ายชื่อภาษาจีนที่ติดอยู่หน้าศาลว่า “ศาลเจ้าเก่าแห่งท่าจีน” ภายในศาลมีเทพเจ้าปุนเถ้ากงซึ่งทรงชุดทหาร เป็นเทพเจ้าประธานอยู่ตรงกลางพร้อมด้วยเทพบริวารอีก 3 องค์ ด้านขวามีเจว็ดไม้สลักเป็นรูปเทวดาทรงเครื่องแบบไทยจำนวน 6 องค์ โดยบางองค์เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง และด้านซ้ายมีเจ้าแม่เทียนโฮ่วซึ่งเป็นเทพที่คนเดินเรือชาวจีนแต้จิ๋วนับถือในลักษณะเช่นเดียวกับเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ยของชาวจีนไหหลำ

เทพเจ้าปุนเถ้ากงเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนโพ้นทะเลในพื้นที่ต่าง ๆ เคารพนับถือแต่ไม่มีในประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งชุมชนที่คอยดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชนนั้น ๆ ให้ร่มเย็น และทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง และยังเป็นที่นับถือของนักเดินเรือชาวจีนในอดีตอีกด้วย ปุนเถ้ากง หรือ เปิ่นโถวกง (本頭公) มาจากคำว่า “เปิ่น” แปลว่า เดิม หรือดั้งเดิม “โถว” มาจาก “โถวมู่” แปลว่า หัวหน้า หรือผู้นำ และ “กง” แปลว่า ผู้อาวุโส หรือผู้เฒ่า เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า “หัวหน้าผู้อาวุโสที่มีมาแต่เดิม”