logo

Category : ที่เที่ยว

13 Jul 2019

สถานีรถไฟบ้านแหลม

สถานีต้นทางของรถไฟสายเก่าแก่กว่า 100 ปี เริ่มเดินรถตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนำไปสู่สถานีแม่กลองที่มีตลาดร่มหุบอันเลื่องชื่อ รถไฟสายแม่กลอง (วงเวียนใหญ่-มหาชัย-บ้านแหลม-แม่กลอง) เป็นรถไฟสายโดดเดี่ยวไม่เชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่น แต่โดดเด่นต่างจากรถไฟสายอื่นตรงที่ต้องนั่งเรือข้ามแม่น้ำท่าจีนเพื่อต่อระหว่างสถานีมหาชัยกับบ้านแหลม บริเวณริมเขื่อนสถานีแห่งนี้มีสะพานไม้สวยงามที่สร้างจากรางและไม้หมอนรถไฟให้ชมวิวแม่น้ำท่าจีนและป่าชายเลนอันร่มรื่นที่ชุมชนช่วยกันปลูก รถไฟวิ่งวันละ 4 เที่ยว เที่ยวจากสถานีนี้อออก 7.30  10.10  13.30 และ 16.40 น. และเที่ยวจากสถานีแม่กลองออก 6.20  9.00  11.30  และ 15.30 น. ค่าโดยสารเพียงคนละ 10 บาท ใช้เวลา 60 นาทีถึงสถานีปลายทาง

23 Oct 2018

วัดกำพร้า (วัลลี ยากุ)

Q: ดึกดื่นคืนค่ำ แถวหน้าวัดกำพร้า เคยเห็นผู้หญิงจูงเด็กเดินไปมากันบ้างไหม? A: “…” STORY ชาวบ้านแถวๆ วัดกำพร้า ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เล่าว่า พวกเขามักเห็นหญิงสาวคนหนึ่งจูงลูกเดินไปมาอยู่บริเวณหน้าวัดเป็นประจำ ก่อนที่รายการ “คนอวดผี” จะมาทำพิธีกรรม และทำให้ความสงบ สบายใจ กลับมาเยือนละแวกนั้นอีกครั้ง หากเรื่องจริงที่เหลือเพียงเรื่องเล่า และเรื่องเศร้าที่กลายเป็นเรื่องหลอน ยังคงปรากฏอยู่ในความทรงจำ และถ้อยคำบอกต่อ ถึงชะตากรรมที่น่าสงสารของ “วัลลี ยากุ” หญิงสาววัย 19 ปี ลูกน้อยวัย 3 ขวบ และลูกน้อยในท้องของเธอ วัลลี ยากุ ไม่ใช่คนไทย และไม่ทราบสัญชาติตนเองด้วยซ้ำ เธอเกิดมาพร้อมสถานะต่างด้าว เมื่อมีครอบครัวได้ไม่นาน สามีก็ออกไปทำงาน ทราบแต่เพียงว่าอยู่ “สมุทรสาคร” วัลลี ยากุตัดสินใจออกเดินทางเพื่อตามหาสามี แต่ไม่ทันพบหน้า เธอกลับถูกรถชนตายโดยไร้ญาติขาดมิตร และศพถูกนำมาไว้ที่ “วัดกำพร้า” เรื่องหลอนของวัลลี ยากุ เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น เรื่องเล่าหลากหลายถูกรวบรวมไว้ในอินเทอร์เน็ตเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่ชวนให้ผู้คนหลอนไปต่างๆ กัน  (ข้อมูลจาก www.thehouse.online/story465 และ www.khaosode.com/?p=2552) ริมทาง: ว่ากันว่าชาวบ้านแถวนั้น เห็นวิญญาณของเธอกับลูกเดินตามถนนหน้าวัดอยู่เป็นประจำ ซึ่งปกติแถวนั้นจะมีร้านค้ามากมาย แต่ช่วงที่มีข่าวแพร่สะพัดออกไป ถึงความเฮี้ยนของวัลลี ยากุ ทำให้ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดร้านกันแต่หัววันเลยทีเดียว เสียงกล่อมเด็ก: ในทุกๆ คืน เสียงแว่วโหยหวนเพลงกล่อมเด็กที่เย็นยะเยือก มากับเสียงลม มันชวนหลอนสั่นประสาทคนละแวกนั้นอย่างที่สุด โบกรถ: มีคืนหนึ่ง วินมอเตอร์ไซค์ดวงซวย ถูกผู้หญิงท้องและลูกน้อยโบกรถจากหน้าวัดให้ไปส่งที่ท่ารถ แต่พอถึงจุดหมาย สองแม่ลูกนั้นกลับหายไปจากเบาะหลัง […]

12 Aug 2018

ท่าฉลอม

Q: รู้ไหมว่า สาวมหาชัย ที่ชายหนุ่มในเพลง “ท่าฉลอม” หลงรัก ชื่ออะไร? A: พี่อยู่ไกลถึงท่าฉลอม แต่พี่ไม่ตรอม เพราะรัก “พยอม” ยามยาก STORY รถสามล้อถีบโบราณ ท่าเรือข้ามฟาก ท่าฉลอม-มหาชัย และถนนถวาย 3 สิ่งสามัญประจำถิ่นซึ่งเฉลยคำว่า “ท่าฉลอม” ด้วยอัตลักษณ์และเรื่องเล่า การเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของสยามประเทศ สรุปบันทึกเหตุการณ์ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดํารัสในวันประชุมเสนาบดี ภายหลังเสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) ว่า ‘โสโครกเหมือนกับตลาดท่าจีน (ท่าฉลอม)’ ซึ่งเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีหนังสือตราพระราชสีห์น้อยถึงผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร และเป็นที่มาของการที่ประชาชนและพ่อค้าในตำบลท่าฉลอมร่วมใจกันสละเงินรวมจำนวน 5,472 บาท โดยนำมาทำเป็นถนนปูอิฐขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 428 เมตร และจ้างคนปัดกวาดเทขยะมูลฝอยทิ้งจนตลาดท่าจีนสะอาดสมความตั้งใจ หลังจากนั้น รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนาม “ถนนถวาย” ดังความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ เสียสละของชาวท่าฉลอมซึ่งพัฒนาท้องถิ่นไทยตามแนวพระราชดำริของพระองค์ และมีพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2448 ให้จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของสยามประเทศ จากนั้นในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดําเนินมาเพื่อเปิดถนนเส้นนี้ เป็นเหตุให้วันที่ “18 มีนาคม” ของทุกปี เป็นวัน “ท้องถิ่นไทย” ของประเทศไทย ท่าฉลอมเป็นที่รู้จักอย่างโด่งดัง และถูกจดจำได้อีกครั้ง จากการเป็นสถานที่ในบทเพลง “ท่าฉลอม” ของชรินทร์ […]

12 Aug 2018

บ้านสวนแช่มชื่น

Q: นอกจากผลไม้ และไม้ผล หลากหลายดังความสมบูรณ์ของดินบ้านแพ้ว มีพืชพันธุ์อะไรน่าสนใจอีกบ้าง? A:  กล้วยไม้ ที่กวาดรางวัลในไทยมากมาย และส่งออกไกลถึงยุโรป STORY เลียบริมสองฝั่งคลอง วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นบ้านแพ้ว มีความหลากหลายทางชีวภาพตลอดเส้นทางสายน้ำที่เรือแล่นผ่าน ไม่แพ้การเคลื่อนที่ด้วยรถ แต่สีสันและความสวมงามของไม้ดอก หากไม่แนะนำให้ไปฟาร์มกล้วยไม้ของ “คุณสมศักดิ์ ศรีสงคราม” คงต้องถือว่าผิด! เพราะฟาร์มกล้วยไม้แห่งนี้ คือหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของบ้านแพ้ว ด้วยฝีมือการเพาะและดูแลกล้วยไม้ของคุณสมศักดิ์ ที่ทำให้กล้วยไม้ที่นี่ไปคว้ารางวัลในเวทีใหญ่ ๆ ของประเทศมาอย่างมากมาย ที่มาถึงชานเรือนบ้านของคุณสมศักดิ์แล้วก็จะได้เห็นเกียรติบัตรแสดงเกียรติคุณแบบที่ไม่ต้องโม้เลยทีเดียว KEY คุณสมศักดิ์ เจ้าของฟาร์มกล้วยไม้แห่งนี้ เล่าว่ากล้วยไม้ของเขาที่เพาะเพื่อส่งออกนั้นคือ “กล้วยไม้หวายแคระ” ซึ่งมีคนมารับและส่งต่อไปไกลถึงยุโรป ส่วนกล้วยไม้ที่เพาะและนำไปแสดงจนได้รางวัลมากมายนั้น เป็นพันธุ์หลากหลายที่เพาะขึ้นมาด้วยใจรัก และยินดียิ่งนักที่จะเปิดให้เข้าชมผ่านการติดต่อของ “บ้านสวนแช่มชื่น (ชวนชม)” ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชน ที่ยินดีให้ข้อมูลและเป็นศูนย์กลางการติดต่อ

12 Aug 2018

วัดใหญ่จอมปราสาท

Q: ที่ใดคือ หลักฐานเชิงประจักษ์ของความยาวนานแห่งวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของบ้านท่าจีน? A: วัดใหญ่จอมปราสาท STORY จากมหาชัยสู่ท่าฉลอม เส้นทางที่วิ่งจากกรุงเทพฯ บนถนนพระราม 2 ผ่านความรุ่งเรืองของยุคสมัยใหม่ ก่อนเข้าสู่ย่านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวิถีชีวิตชุมชนชาวประมงที่สงบงาม มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง ซึ่งยืนยันว่าความสงบงามแห่งวิถีชีวิตสุดคลาสสิกในปัจจุบันของท้องถิ่นบ้านท่าจีน และท่าฉลอมนี้ ไม่ได้ถือกำเนิดในยุครัตนโกสินทร์ แต่มีมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี นับตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นปราการด่านหน้าบอกว่าเข้าสู่ “บ้านท่าจีนแล้ว” วัดใหญ่จอมปราสาท ตั้งอยู่ที่บ้านท่าจีน ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร เป็นแหล่งรวมศรัทธาของชาวท่าจีนและชาวสมุทรสาครมานับเนื่องยาวนานตามอายุการก่อสร้างของวัดแห่งนี้ ท่ามกลางศรัทธาแห่งศาสนสถานทีโชติช่วงต่อเนื่อง ความเก่าแก่ที่กลายรูปร่างเป็นประวัติศาสตร์ศิลปะ ปรากฏเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ที่งดงามทั้งด้วยตาสัมผัส และด้วยใจที่รู้สึก ทั้งพระวิหารเก่า พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ เจดีย์ทรงมณฑป ศาสนสถานแห่งนี้ยังมีการใช้ประโยชน์ทั้งทางศาสนา และศรัทธาแห่งพุทธศาสนิกชน แม้ว่าอาคารโบราณสถานบางหลังจะถูกทิ้งร้าง แต่ก็ล้วนเป็นความวิจิตรงามที่ผู้อยู่และผู้มาเยือนมาชื่นชมไม่ขาดสาย KEY วัดใหญ่จอมปราสาทเป็นวัดในตำบลท่าจีน ที่เป็นทั้งศาสนสถานซึ่งยังคงใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

12 Aug 2018

ชุมชนเจ็ดริ้ว

Q: คุณป้าคะ ขอถ่ายรูปไปลงเว็บไซต์หน่อยได้ไหมคะ? A: ถ่ายตอนนี้เหรอ วันนี้สไบไม่สวยเลย (ยิ้มเขิน) STORY ในบรรยากาศสีเขียวของอำเภอบ้านแพ้ว หลากชุมชนเลียบริมคลองล้วนมีสีสันและวิถีชีวิตที่แตกต่าง หากภายใต้ร่มไม้งามของเรือกสวนไร่ผลไม้ที่ยังความรู้สึกเขียวชอุ่มชุ่มชื่นให้ตลอดเวลานั้น มีสีสันแห่งวิถีชีวิตหนึ่งที่คงสดใสและเข้มข้นแข่งกับ “สไบมอญ” ซึ่งปรากฏหลักฐานพาดบ่าของชาวมอญ หรือชาวไทยรามัญในทุกวันสำคัญทางศาสนาที่ “ชุมชนเจ็ดริ้ว” ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เจ็ดริ้วมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำคลองเชื่อมโยงถึงกันกระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว่า 170 สาย ความสมบูรณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบการเกษตร เพาะปลูก ทำเรือกสวนไร่นา และการสร้างบ้านเรือนตามแนวคลองเจ็ดริ้วและคลองพาดหมอน (ข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) ศูนย์รวมหลักฐานและประจักษ์พยานอันเข้มข้นของวิถีแบบชาวมอญจึงอยู่ที่โรงเรียนและวัด “โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว” นั้น ส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชาวมอญ โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชาวมอญเจ็ดริ้วขนาดย่อมไว้ในโรงเรียน ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยข้อมูล ภาพถ่ายและเครื่องมือเครื่องใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของชาวมอญ นอกจากนั้นยังมีการสอน และเป็นศูนย์กลางการส่งต่อภูมิปัญญาการปักสไบมอญ คุณภาพและความสวยงามนั้นเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดี และแน่นอนว่าสีสันแห่งวิถีชีวิตของที่นี่ยังคงสดใส ใช่เพียงถูกบันทึกและเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ฉะนั้นแล้วในวันสำคัญของศาสนาเราจะได้พบชาวไทยรามัญ หรือชาวมอญ หยิบสไบมอญมาใส่ และทำบุญไหว้พระในแบบของชาวมอญที่วัดเจ็ดริ้ว สไบมอญนั้นสวยงามแปลกตา แม้ว่าคุณยายคุณย่าจะบอกว่าสไบที่เขาหยิบมาใส่นั้นไม่ใช่สไบมอญที่สวยที่สุดที่มี แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชมและดื่มด่ำกับอัตลักษณ์ที่ยังมีชีวิตแล้ว ความงามของสไบมอญนั้นอยู่ที่ลมหายใจนั่นเอง KEY ชุมชนที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวไทยรามัญ หรือชาวมอญ ซึ่งมีวิถีชีวิต เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะสไบมอญ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาส่งต่อจากรุ่นต่อรุ่น และยังคงพัฒนาเป็นจุดขายถึงในปัจจุบัน