ท่าฉลอม

Q: รู้ไหมว่า สาวมหาชัย ที่ชายหนุ่มในเพลง “ท่าฉลอม” หลงรัก ชื่ออะไร?

A: พี่อยู่ไกลถึงท่าฉลอม แต่พี่ไม่ตรอม เพราะรัก “พยอม” ยามยาก

STORY

รถสามล้อถีบโบราณ ท่าเรือข้ามฟาก ท่าฉลอม-มหาชัย และถนนถวาย 3 สิ่งสามัญประจำถิ่นซึ่งเฉลยคำว่า “ท่าฉลอม” ด้วยอัตลักษณ์และเรื่องเล่า การเป็นสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของสยามประเทศ สรุปบันทึกเหตุการณ์ได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดํารัสในวันประชุมเสนาบดี ภายหลังเสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ (ปัจจุบันคือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) ว่า ‘โสโครกเหมือนกับตลาดท่าจีน (ท่าฉลอม)’ ซึ่งเป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีหนังสือตราพระราชสีห์น้อยถึงผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสาคร และเป็นที่มาของการที่ประชาชนและพ่อค้าในตำบลท่าฉลอมร่วมใจกันสละเงินรวมจำนวน 5,472 บาท โดยนำมาทำเป็นถนนปูอิฐขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 428 เมตร และจ้างคนปัดกวาดเทขยะมูลฝอยทิ้งจนตลาดท่าจีนสะอาดสมความตั้งใจ

หลังจากนั้น รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนาม “ถนนถวาย” ดังความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ เสียสละของชาวท่าฉลอมซึ่งพัฒนาท้องถิ่นไทยตามแนวพระราชดำริของพระองค์ และมีพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2448 ให้จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของสยามประเทศ จากนั้นในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดําเนินมาเพื่อเปิดถนนเส้นนี้ เป็นเหตุให้วันที่ “18 มีนาคม” ของทุกปี เป็นวัน “ท้องถิ่นไทย” ของประเทศไทย


ท่าฉลอมเป็นที่รู้จักอย่างโด่งดัง และถูกจดจำได้อีกครั้ง จากการเป็นสถานที่ในบทเพลง “ท่าฉลอม” ของชรินทร์ นันทนาคร ที่บอกเล่าเรื่องราวความรักระหว่าง “พี่อยู่ไกลถึงท่าฉลอม” และ “พยอมที่อยู่ฝั่งมหาชัย” และแม้ปัจจุบันท่าเรือข้ามฟากแห่งนี้แทบจะไม่หลับใหล ให้ “พี่” ต้องไกล “พยอม” อีก แต่ภาพมะพร้าวลอยเท้งเต้งเหนี่ยวนำความรักของพี่จากฝั่งท่าฉลอมสู่มหาชัย ยังอยู่ในใจพยอมทั้งสองฝั่งอยู่เสมอ

KEY

สถานที่ท่องเที่ยวย่านชุมชนและเมืองเก่าซึ่งคงอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทย-จีน วิถีประมง และชุมชนริมน้ำอย่างเข้มข้น